วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2552

การเกิดภูเขาไฟ

 ภัยจากภูเขาไฟระเบิดเป็นอีกมหันตภัยหนึ่งที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ  ภูเขาไฟพบเห็นอยู่ในทุกภูมิภาคของโลกแม้แต่ในประเทศไทยก็มีภูเขาไฟอยู่หลายลูกกระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่างๆ  ภัยจากภูเขาไฟสำหรับคนไทยแล้วอาจจะดูห่างไกลกว่าภัยธรรมชาติชนิดอื่น แต่ถึงกระนั้นเราก็ไม่ควรเพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงเสียทีเดียว นอกจากความน่าสะพรึงกลัวจากภัยภูเขาไฟแล้วภูเขาไฟบางแห่งก็มีทัศนียภาพที่สวยงามตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คงจะหนีไม่พ้นภูเขาฟูจิที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว แต่ความเปลี่ยนแปลงที่อยู่ลึกลงไปภายใต้แผ่นดินความสวยงามอาจกลายเป็นภัยที่สามารถเผาผลาญชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืชได้ในพริบตาเดียว


 


 
ภูเขาไฟฟูจิ
รูปจาก http://www.asiavacation.com/


                  ปัจจุบันยังคงเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดเกิดขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ละครั้งความเสียหายของผู้เสียชีวิตอยู่ที่หลักหมื่น ในแง่ของการสูญเสียประชากรอาจจะไม่รุนแรงเท่าภัยธรรมชาติชนิดอื่นแต่ในเชิงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์แล้วภัยธรรมชาติชนิดนี้ต้องถือว่าเป็นภัยที่น่าตระหนกอย่างยิ่ง


                  อินโดนีเซียประเทศเพื่อนบ้านของเราที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะแก่งมากมายเคยเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดครั้งรุนแรงมาแล้วอย่างน้อยสามครั้ง


เมื่อราว 7 หมื่น5พันปีมีมาแล้วภูเขาไฟโทบา บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียเกิดระเบิดขึ้นทำให้มีเศษหินและขี้เถ้าขนาดยักษ์แผ่ปกคลุมโลกและบดบังดวงอาทิตย์ จนมีข้อสันนิษฐานตามมาว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสาเหตุของการเกิดยุคน้ำแข็งยุคใหม่ของโลกขึ้น


                  ปี ค.ศ.1815 ภูเขาไฟแทมโบล่า(Tambora) ในประเทศอินโดนีเซียเกิดระเบิดขึ้น การระเบิดในครั้งนั้นทำให้แผ่นดินสั่นสะเทือนและส่งเสียงกึกก้องดังไปไกลกว่า 850 กิโลเมตร การระเบิดในครั้งนั้นทำให้เกิดเศษธุลีและผงฝุ่นมหาศาลแผ่ปกคลุมโลกจนกระทั่งโลกในปีนั้นไม่มีฤดูร้อน หลังจากอีกกว่า 150 ปีต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการระเบิดของแทมโบล่าเป็นการระเบิดของภูเขาไฟที่รุนแรงที่สุดในรอบหมื่นปี แม้แต่การระเบิดของภูเขาไฟ วิสุเวียส  (visuvius)ที่เกิดเป็นลาวาไหลท่วมทับคนทั้งเป็น ในอิตาลี หรือแม้กระทั่งการระเบิดของภูเขาไฟบนเกาะการากา (krakatoa) ประเทศอินโดนีเซียในปี 1883 ที่ทำให้เกิดเสียงกึกก้องดังไปถึง 4,828 กิโลเมตร( 3 พันไมล์) เกิดคลื่นสึนามิสูงประมาณ 100 ฟุต และทำให้ประชากรเสียชีวิตมากกว่า 3.5 หมื่นก็ยังไม่สามารถนำไปเทียบเคียงกับความรุนแรงของการระเบิดของภูเขาไฟแทมโบล่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการระเบิดของภูเขาไฟแทมโบล่ามีความรุนแรงเทียบเท่ากับระเบิดปรมาณูที่อเมริกาทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ในคราวสงครามโลกครั้งที่สองถึง 60,000 ลูกเมื่อมีการระเบิดพร้อมกัน นั้นคือความน่าสะพรึงกลัวของภัยภูเขาไฟระเบิด


 
แนวภูเขาไฟในประเทศอินโดนีเซีย
รูปจากhttp://vulcan.wr.usgs.gov


 


สาเหตุการเกิดภูเขาไฟ และประเภทของภูเขาไฟ


                  เนื่องจากเปลือกโลกชั้นนอกของโลกเรามีพื้นที่ไม่เรียบเสมอกันเปลือกโลกชั้นในมีลักษณะเป็นหินเมื่อได้รับความร้อนที่แผ่ออกมาจากแก่นโลกทำให้กลายเป็นหินเหลวหนืดที่เรียกว่าแมกมา(หินหนืดที่อยู่ภายใต้แผ่นเปลือกโลกจะถูกเรียกว่าแมกมาเมื่อมีการดันตัวมาสู่ชั้นบรรยากาศของโลกจะถูกเรียกว่าลาวา) และเมื่อได้รับความร้อนจากแก่นโลกมากเข้าก็จะไหลวนเวียนเฉกเช่นเดียวกับน้ำในกาต้มน้ำร้อนที่วิ่งไปรอบกาน้ำพร้อมกับส่งควันพวยพุ่งออกมาตามช่องระบายภูเขาไฟก็เช่นกันและในที่สุดก็พุ่งทะลักออกมาตามรอยแยกของแผ่นเปลือกโลก


                 โดยทั่วไปแล้วการเกิดภูเขาไฟประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกมาเกยกันหรือที่เรียกตามศัพท์ทางวิชาการว่า subduction zone เปลือกโลกของเราเป็นชั้นหินที่มีความแข็ง มีความหนาประมาณ 40-60 กิโลเมตร ผิวโลกมีลักษณะเป็นแผ่นไม่ได้รวมเป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั้งโลก เปลือกโลกถูกแบ่งออกตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ได้เป็น 2 ประเภท Oceanic plate คือแผ่นเปลือกโลกที่อยู่ใต้มหาสมุทรกับ Continental plate หรือแผ่นทวีป ซึ่งปรากฏอยู่ตามส่วนที่เป็นพื้นดิน   ดังนั้นเมื่อได้รับความร้อนจากแก่นโลกก็จะทำให้แผ่นโลกเกิดการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาโดยกะประมาณว่าแผ่นโลกของเราจะมีการเคลื่อนที่ประมาณ 10 เซนติเมตรต่อปี และเมื่อแผ่นเปลือกโลกสองแผ่นเคลื่อนที่ชนกันก็จะทำให้แผ่นโลกแผ่นหนึ่งมุดลงใต้แผ่นโลกอีกแผ่นหนึ่ง  แผ่นที่มุดต่ำลงจะเข้าสู่ชั้นเปลือกโลกที่มีความร้อนสูงดังนั้นเกิดเป็นพลังงานความร้อนที่พยายามดันตัวออกมาสู่ภายนอก ลักษณะของการเกยกันของแผ่นเปลือกโลกนี้เองที่เราเรียกว่า subduction zone ภูเขาไฟมักจะเกิดตามแนว subduction zoneนี้


 


ภาพการเกิดภูเขาไฟระเบิดตามแนว subduction zone
ภาพจาก http://whyfiles.org


                  ส่วนอีก 5 เปอร์เซ็นต์ของการเกิดเป็นภูเขาไฟระเบิดจะไม่เกิดตามแนวรอยแยกของแผ่นเปลือกโลกแต่จะเกิดในพื้นที่ช่วงกลางแผ่นเปลือกโลก ปรากฏการณ์เช่นนี้ จะเกิดโดยมีการสะสมของแมกมาจำนวนมากใต้แผ่นเปลือกโลกเมื่อมีจำนวนแมกมาจำนวนมากก็จะเกิดแรงดันจำนวนมหาศาลทำให้แมกมาไหลท่วมออกมาจนสามารถทำให้แผ่นเปลือกโลกขยับได้ นักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า mantle plume หรือ hot อย่างเช่นการเกิดภูเขาไฟในหมู่เกาะฮาวาย


 


การเกิดภูเขาไฟระเบิดแบบ hotspot
ภาพจาก http://www.cotf.edu


 


                  ภูเขาไฟสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทเช่นแบ่งตาม รูปร่าง แบ่งตาม ลักษณะทางกายภาพของสิ่งที่ประทุออกมา แบ่งตามการปะทุ แบ่งตามวัตถุที่มาสะสมกันรอบๆปล่องภูเขาไฟ  แบ่งตามประวัติของการปะทุที่เคยถูกบันทึกไว้  แต่การแบ่งซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดก็คงจะเป็นการแบ่งลักษณะภูเขาไฟรูปร่าง


การแบ่งภูเขาไฟตามรูปร่าง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท(ในบางตำราอาจจะแบ่งเป็น4ประเภท)


1. Shield Volcano หรือที่รู้จักกันในภาษาไทยว่า ภูเขาไฟแบบโล่ห์ ภูเขาไฟแบบนี้เกิดจากธารลาวาเหลวไหลออกมาตามรอยแยกของแผ่นเปลือกโลก การปะทุของภูเขาไฟชนิดนี้จะไม่ระเบิดรุนแรง แต่เป็นแบบน้ำพุลาวา โดยลาวาจะมีลักษณะที่เหลวและมีอุณหภูมิสูงมากทำให้ไหลไปได้เป็นระยะทางไกลภูเขาไฟที่จัดอยู่ในประเภทนี้จะมีลักษณะกว้างและไม่ชัน ภูเขาไฟ Mauna Loa ในฮาวาย เป็น Shield Volcano ที่ใหญ่ที่สุดในโลก


 
ภูเขาไฟ Mauna Loa ซึ่งจัดเป็นแบบ Shield Volcano
ภาพจาก http://vulcan.wr.usgs.gov/


2. Composite Cone  หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาไทยว่าแบบกรวยภูเขาไฟสลับชั้น การเกิดภูเขาไฟแบบนี้เกิดจากจากการสลับหมุนเวียนของชั้นลาวาและชั้นเศษหินและจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการประทุอย่างกระทันหัน ในขณะที่แมกมาจะมีความหนืดและอุณหภูมิที่สูงมาก การระเบิดของภูเขาไฟแบบนี้ถือว่ามีความรุนแรงมากที่สุด ภูเขาไฟแบบนี้ได้แก่ภูเขาไฟ ภูเขาไฟฟูจิ (Mt Fuji) ในญี่ปุ่น ภูเขาไฟมายอน (Mt Mayon) ในประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น


 
ภูเขาไฟ Mayon
ภาพจาก http://siliconium.net/


3. Cinder Cone Volcano หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาไทยว่า กรวยกรวดภูเขาไฟ ภูเขาไฟแบบนี้ จะมีลักษณะสูงชันมาก เนื่องจากลาวามีความหนืดมากทำให้ไหลได้ไม่ต้องเนื่อง ลาวาที่ไหลออกมามีลักษณะเป็นทรงกลม พุ่งออกมาจากปล่องภูเขาไฟเพียงปล่องเดียว ดังนั้นเมื่อเกิดการระเบิดของภูเขาไฟชนิดก็มักจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก 


 
ภูเขาไฟแบบ Cinder Cone Volcano อยู่ทางตอนเหนือของประเทศชิลี
ภาพจาก http://www.geology.wisc.edu


 


                  ภูเขาไฟกระจัดกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของโลกบางก็เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว บางก็เป็ภูเขาไฟที่รอวันประทุ จากข้อมูลทางด้านธรณีวิทยาระบุโลกเราภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่มีความสูงกว่า 15,000 ฟุตอยู่ถึง 14 แห่ง คือ


  

ลัลไลเลโคประเทศอาร์เจนตินา-ประเทศชิลี มีความสูง   22109  ฟุต
กัวลาติรี  ประเทศชิลี  มีความสูง  19,918   ฟุต
ตูปันเกไตโต   ประเทศชิลีมีความสูง  19,685  ฟุต
โคโตแปกซีประเทศเอกวาดอร์ มีความสูง   19,393  ฟุต     
เอลมิสตีประเทศเปรูมีความสูง  19,101  ฟุต 
ปิโกเดอโอริซาบาประเทศเม็กซิโกมีความสูง    18,619   ฟุต
ลาสการ์ประเทศชิลี มีความสูง    18,346   ฟุต
โปโปคาเตเปติ ประเทศเม็กซิโกมีความสูง   17,802    ฟุต
เนวาโด เดล รูอิซประเทศโคลัมเบีย มีความสูง    17,457   ฟุต  
ซังเกย์ประเทศเอกวาดอร์ มีความสูง   17,159    ฟุต
อิรัปปูตุนคู ประเทศชิลีมีความสูง   16,939    ฟุต
คลูเชฟสกอย    แหลมแคมชัทกา ประเทศรัสเซีย มีความสูง15,863    ฟุต
กัวกัวปิชินชาประเทศเอกวาดอร์มีความสูง   15,696    ฟุต     
ปูราเช่   ประเทศโคลัมเบีย  มีความสูง     15,256  ฟุต  

วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บทความที่2 เรื่องิทานชาดกอุจฉังคชาดก




 
อุจฉังคชาดก
 
:: สาเหตุที่ตรัสชาดก ::

.....สมัยพุทธกาล ณ แคว้นโกศล มีโจรกลุ่มหนึ่งปล้นสะดมชาวบ้านแล้วหนีไป ชาวบ้านจึงพากันหาโจรจนมาถึงหมู่บ้านชายแดนแห่งหนึ่ง พบชาย ๓ คนกำลังไถนาอยู่ จึงคิดว่าเป็นโจรปลอมเป็นชาวนา จึงจับกุมทุบตีแล้วคุมตัวมาถวายพระเจ้าโกศล
.....ต่อมา ได้มีหญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง เดินร้องให้รำพันรอบๆ พระราชวัง ขอพระราชทานเครื่องนุ่งห่ม ความทราบถึงพระเจ้าโกศล พระองค์มีรับสั่งให้นำผ้าสาฎกไปมอบให้แก่นาง แต่นางกลับยิ่งร้องไห้หนักขึ้นและกล่าว “ขอพระราชทานเครื่องนุ่งห่ม คือสามี”
.....ราชบุรุษจึงนำนางไปเข้าเฝ้า พระเจ้าโกศลได้ทรงซักถาม นางจึงว่า “สามีชื่อว่าเครื่องนุ่งห่มของหญิง เมื่อไม่มีสามี แม้จะนุ่งห่มผ้าราคาตั้ง ๑,๐๐๐ กษาปณ์ ก็ชื่อว่าหญิงเปลือยอยู่นั่นเอง แม่น้ำไม่มีน้ำ ชื่อว่าเปลือย แว่นแคว้นไม่มีราชา ชื่อว่าเปลือย หญิงปราศจากสามี ถึงจะมีพี่น้องตั้ง ๑๐ คน ก็ชื่อว่าเปลือย” 
.....พระเจ้าโกศลเกิดเลื่อมใสจึงตรัสคืนชายหนึ่งคนให้ นางจึงขอพี่ชายและให้เหตุผลว่า ถ้ายังมีชีวิตย่อมหาสามีใหม่และมีบุตรใหม่ได้ แต่บิดามารดาได้สิ้นชีวิตไปแล้ว ไม่อาจจะมีพี่ชายได้อีก พระเจ้าโกศลเห็นความฉลาดของนางจึงโปรดไว้ชีวิตชายทั้งสาม
.....เรื่องดังกล่าวเลื่องลือแม้กระทั่งในหมู่ภิกษุ ความทราบถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงระลึกชาติหนหลังด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสเล่า อุจฉังคชาดก



 
:: ข้อคิดจากชาดก ::
 

.....๑. ผู้ที่มีหน้าที่ปราบปราม นำคนผิดมาลงโทษ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่าจับคนด้วยเพียงการคาดคะเน เพราะการลงโทษคนบริสุทธิ์เป็นบาปอย่างยิ่ง การปล่อยคนผิดไป ๑๐๐ คน ยังดีกว่าการลงโทษคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียว

.....๒. คนเราควรหาโอกาส “ตอบแทนคุณ” ของผู้ที่มีพระคุณต่อเราอยู่เสมอ

.....๓. ผู้ที่รู้บุญคุณและตอบแทนบุญคุณ ย่อมไม่ถึงความตกต่ำอย่างแน่นอน

.....๔. ผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในหลักธรรม แม้ความตายมาถึงตัว ก็มีสติตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว สามารถเผชิญความตายโดยอาจหาญ ย่อมเป็นผู้ที่ “ประสบสุขได้แม้ในยามทุกข์”

.....๕. พี่น้องกันนั้น “ฆ่ากันไม่ตาย ขายกันไม่หมด” แม้จะมีเรื่องผิดใจกันอย่างไร แต่เมื่อมีเรื่องเดือดร้อน ย่อมพึ่งพากันได้

 

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บทความที่1

วันนี้ข้าพเจ้านางสาวธัญญา จันทร์เนตรได้ศึกษาวิธีการสร้างบล็อก